เกมส์ตักปลา ไม่รู้ว่ามีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่าอะไร ผมเรียกเอาเองว่า เกมส์ตักปลา ซึ่งเข้าใจว่าอีกหลายๆ คนก็คงจะเรียกคล้ายๆ กันนี้ ส่วนใหญ่คนไทยเรามักจะตั้งชื่อสิ่งต่างๆ ตามลักษณะ ตามความของมันง่ายๆ โดยเอาคำขยายความมาเรียกขานกันเลย ไม่เหมือนฝรั่งมังค่าที่มักจะชอบเอาคำละตินบ้าง กรีกบ้าง ผสมปนเป เปลี่ยนเสียง เปลี่ยนรูป ให้เข้าใจจดจำยาก แล้วบอกว่ามันเป็นรากศัพท์ อ่านแล้วกว่าจะเดาว่าเป็นอะไร ก็ต้องสืบต้องค้นต้องจำรากศัพท์กันอีกให้วุ่นวาย ไทยเราก็ต้องเอาอย่างบ้างเพื่อให้ฟังดูทันสมัย แปลไทยเป็นไทยกันอีกที เข่น โลกาภิวัฒน์ หรือ โลกานุวัตร เป็นอาทิ
เกมส์ตักปลา (金魚すくい, 金魚掬い, Kingyo-sukui - http://en.wikipedia.org/wiki/Goldfish_scooping) เข้าใจว่าน่าจะมีต้นกำเนิดมาจากญี่ปุ่น (ซึ่งน่าจะถือว่าเป็นชาติที่มีมีความคิดสร้างสรรค์หรือเจ้าแห่งเกมส์เพื่อความบันเทิง แต่ไม่หนักไปทางเกมส์เอ็กซตรีมแบบฝรั่ง) เนื่องจากผมค้นๆ ดูแล้ว ไม่ค่อยมีข้อมูลในฟากตะวันตกมากนัก วิดีโอในยูทูิบส่วนใหญ่ก็เป็นเกมส์ของญี่ปุ่นเสียเป็นส่วนใหญ่ ผมเคยดูเกมส์โชว์รายการหนึ่งจากญุุี่ปุ่นที่นำเด็กผู้หญิงซึ่งน่าจะเป็นแชมป์ตักปลา มาตักปลาโชว์ เธอสามารถตักได้มากกว่า 20 ตัวด้วยกระชอนกระดาษเพียงไม้เดียว ในเวลาไม่ถึงนาที เรียกว่า ตักวักตักวักกันเลยทีเดียว
เกมส์ตักปลาที่ว่านี้ จะมีบ่อปลาเล็กๆ ซึ่งจะอาจเป็นอ่าง กระบะพลาสติก หรือสระน้ำพลาสติกเล็กๆ ใส่ปลาจำพวกปลาทองตัวเล็กๆ ตัวย่อมๆ หรือปลาบอลลูน ปลาสอด ฯลฯ ไว้ให้เราตัก โดยเราจะต้องซื้อกระชอนกระดาษซึ่งตัวกระชอนทำด้วยโครงลวดหรือพลาสติกวงแหวนขนาดโตประมาณ 3-4 นิ้ว มีด้ามสั้นๆ บุด้วยกระดาษบางๆ ทากาวติดไว้ที่ตัวกระชอนในราคา 5 บาท หรือ 10 บาทต่อหนึ่งไม้ไว้ตักปลา แล้วก็จะมีกระแป๋งน้ำหรือขันเล็กๆ ไว้ให้คอยใส่ปลาที่อาจจะตักได้
กติกาง่ายๆ ก็คือห้ามเอากระแป๋งลงไปตักปลา หรือจุ่มกระแป๋งทั้งใบลงไปในน้ำเื่พื่อต้อนหรือวักปลาเข้าคอก เราจะเอากระชอนกระดาษ(ซึ่งจะเปื่อยและขาดได้ง่ายเมื่อเปียกน้ำ) จุ่มลงไปในน้ำ และก็ช้อนปลาขึ้น โดยไม่ได้จำกัดเวลา เวลาจะจำกัดอยู่ที่ กระดาษนั้นเมื่อเราตักอยู่สักพัก หรือออกแรงไล่ปลาในน้ำ หรือตักปลาขึ้นมา กระดาษมันก็พร้อมที่จะขาดทันที แต่เรายังคงตักได้เรื่อยๆ จนมันโหว่แบบที่คิดว่าช้อนปลายังไงก็ไม่มีทางขึ้นแล้วนั่นแหละ
ผมเล่นเกมส์ตักปลานี้ครั้งแรกที่เชียงใหม่ในงานรื่นเริงเมื่อหลายปีก่อน แล้วก็คิดว่าพอรู้วิธีที่จะตักปลาได้อยู่ แล้วก็ยังเล่นมาอยู่หลายครั้งแต่ไม่มีโอกาสได้เล่นบ่อยนัก โดยปกติจะเลือกตักแต่ปลาทองตัวขนาดย่อม ราคาขายกันประมาณ 20 บาท แล้วก็จะได้บ้างเป็นส่วนใหญ่ สักไม้สองไม้ก็ได้ตัวหนึ่ง หรือบางไม้ก็ได้ถึงสองตัว
พอมาถึงงานวัดคราวนี้ พอผมเห็นซุ้มตักปลา ซึ่งมีอยู่สามซุ้ม ก็นึกอยากลองวิชาสนุกๆ ขึ้นมา และสนนราคาถูกกว่าที่เคยตักมาก เกมส์ตักปลาที่ต่างจังหวัดนี้โดยปกติจะคิดกันที่ไม้ละ 10 บาท แต่ในงานนี้ คิดเพียงกระชอนละ 5 บาทเท่านั้น แถม 5 ไม้ 20บาท เสียด้วย ผมลงไปตักไม้แรก แล้วก็ใช้เทคนิคเดิม พอผมตักปลาไว้ได้ในกระชอน ยกปั๊บ ขาดทันที บางไม้พอจุ่มกระชอนลงไปไล่ปลาแป๊บ ยังไม่ทันได้ช้อนปลา กระดาษก็ขาดเลย
หมดไปยี่สิบบาทแรก ไม่ได้ปลาสักตัว ด้วยความเชื่อที่ว่าวิธีที่ใช้น่าจะใช้ได้ผล แต่อาจจะไม่คล่องมือหรือเลือนๆ ทำยังไม่ค่อยถูกท่า เลยขอลองใหม่อีกชุด ผมพบว่า กระดาษที่เค้าใช้นั้น บางและยุ่ยได้ง่ายจริงๆ แถมหลายๆ อันเมื่อยกขึ้นส่องไฟ ยังพบรูเล็ก ๆ อยู่ สองสามรูด้วย ไม่รู้ว่าตั้งใจเจาะ หรือกระดาษที่ผลิตมามันบางมาก แล้วก็ผลิตแบบลวกๆ จึงเกิดรูขึ้นเยอะ ใน 5 ไม้หลังนี้ ผมได้ปลาทองตัวเล็ก มาแค่ตัวเดียว และได้ให้เด็กอื่นที่มาเล่นตักปลาไป
ด้วยความที่ชอบเอาชนะ ผมกลับบ้านมานั่งค้นในอินเตอร์เนตเพื่อหาวิธีตักปลา จากการค้นเวบของไทยพบข้อมูลน้อยมากและไม่มีคนรู้เทคนิค หรือไม่ก็เป็นเทคนิคที่ผมคิดว่าไม่ค่อยเวิร์ค มีอยู่อันแนะให้พยายามตักปลาที่ใกล้ขอบลวดซึ่งผมคิดว่าพอเข้าท่า เนื่องจากที่ใกล้ของกระชอนกระดาษน่าจะมีแรงพยุงมากกว่าก่อนที่มันจะขาดลง
ผมจึงจำเป็นต้องค้นกูเกิ้ลเป็นภาษาอังกฤษ แต่ไม่รู้ว่าเกมส์นี้หรืออุปกรณ์นี้ภาษาอังกฤษเรียกว่ากระไร ผมเริ่มจากคำว่า fish catch แล้วก็คำว่า fair ซึ่งหมายถึงงานรื่นเริง หรืองานออกร้าน แล้วก็ดูจากรูปภาพเป็นหลัก จนได้รู้ว่าฝรั่งใช้คำว่า scoop สำหรับกระชอนตักปลาหรือตาข่ายจับแมลง (ซึ่งอาจเรียกว่า net) คำว่า scoop นี้ปกติหมายถึง กระบวยหรือช้อนที่ตักอะไรเป็นกำ เช่นที่ตักไอศกรีม หรือ กระบวยตัก popcorn จึงอาจใช้เป็นลักษณะนามสำหรับจำนวนเป็นกำหรือเป็นลูกที่ถูกตักขึ้นมาได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังหมายถึง สกู๊ปของบทความ หรือข่าว
ในที่นี้คงหมายถึง ช้อนในการตักปลานั่นเอง ในที่สุดผมก็รู้ว่า กระชอนตักปลานี้ เรียกว่า paper scoop และเกมส์นี้ฝรั่งเรียกว่า goldfish scooping แต่ก็ค้นไม่พบเทคนิคดีๆ ในการตักปลาอยู่ดี เลยคิดว่าต้องพยายามสังเกตจากวิโดีโอในยูทูบแทน และจากการใช้คำว่า goldfish scooping ก็สามารถพบวิดีโอในยูทูบสมใจ
เทคนิคในการตักปลาที่ผมใช้ในครั้งแรกนั้น ก่อนที่ผมจะรู้ ผมได้ลองตักปลาดูครั้งสองครั้งแล้วก็ไม่ได้ เลยยืนดูคนขายตักปลาที่ชักชวนลูกค้ามาเล่นอยู่สักพัก เพราะเห็นเขาตักได้ทุกครั้ง ไม้ละตัวสองตัวโดยกระดาษยังไม่ขาดด้วยซ้ำ จากการสังเกตพบว่า คนขายเขาจะข้อนปลาทองให้มันดิ้นอยู่ใกล้ผิวน้ำหรือปริ่มผิวน้ำ สักพักมันจะอ่อนแรงลง จังหวะนั้นเราสามารถตักปลาขึ้นมาได้ง่ายขึ้นโดยกระดาษจะไม่ขาด นอกจากนี้การตักปลาปริ่มผิวน้ำ ยังทำให้ปริมาณแรงกดของน้ำตอนยกกระชอนในขณะยกกระชอนขึ้นไม่มากด้วย เนื่องจากกระชอนอยู่ใกล้ผิวน้ำมากนั่นเอง
นอกจากนี้ เวลาที่เราเอากระชอนไล่ปลาให้มาอยู่เหนือกระชอนนั้น อย่าเอากระชอนขวางการไหลของน้ำ ให้ราบกระชอนไปตามทิศทางที่เราเคลื่อนกระชอน เพื่อเฉือนน้ำและลดแรงที่ดันกระดาษให้น้อยที่สุด ครั้งหลังจากนั้น เมื่อผมเห็นคนเล่นตักปลาหลายครั้งแล้วไม่ได้ ผมก็จะไปช่วยกระซิบบอกวิธีที่ว่าข้างต้นให้ (โดยเฉพาะกับสาวๆ ) ก็เห็นเค้าก็จะตักกันได้เช่นกัน
ผมไม่สามารถหาได้ว่ามีเทคนิคพิเศษอื่นๆ อีกไหม แต่ดูจากวิดีโอ ก็พบว่าคนที่ตักเก่งๆ หรือเด็กส่วนใหญ่วักกันเร็วมาก ก็คิดเอาเองว่า กระดาษเค้าคงเปื่อยยากกว่า ผมกลับไปเล่นตักปลาอีกสองครั้งในวันอื่น พยายามปรับเทคนิค และตักปลาใกล้ขอบกระชอน ส่วนใหญ่ก็จะพลาดหมด มีได้มาอีกสองตัวเท่านั้น จากการตักไปประมาณ 20 ไม้ แล้วเราต้องเจอกันอีกแน่... เกมส์ตักปลา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น